ดาวดวงเล็กที่ทำขึ้นจากเศษผ้าสีแดงสดปรากฏขึ้นจากซอกหิน ระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังทำการบูรณะพื้นหินภายในห้องขังหมายเลข 9 พื้นที่คุกของอดีตค่ายกักกันนาซี ดวงดาวสีแดงที่ถูกถักทอด้วยเศษด้ายอย่างบรรจง ถูกนำออกมาจัดแสดงหลังผ่านเวลาไปกว่า 70 ปี ไม่มีใครทราบชะตากรรมของผู้ให้กำเนิดมัน แต่เรารู้เพียงว่าดาวดวงนี้เป็นเพียงความหวังเดียวของผู้ถูกคุมขัง ภายในค่ายกักกัน Risiera di San Sabba ค่ายกักกันนาซีแห่งเดียวของอิตาลี จากกว่า 100 ค่ายกักกัน ที่มีกระบวนการฆาตรกรรมเหยื่ออย่างเป็นระบบ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
คำเตือน: อาจมีเนื้อหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ มีเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนและสะเทือนใจ
ค่ายกักกันนาซีแห่งนี้แต่เดิมคือกลุ่มอาคารของโรงสีข้าว ที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองที่ชื่อว่า San Sabba บริเวณทิศใต้ของเมือง Trieste เมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งบนทะเลเอเดรียติก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1898 ก่อนจะปรับขยายพื้นที่กลายเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในช่วงปี ค.ศ. 1913–1934 ในช่วงค.ศ. 1930 ส่วนหนึ่งของโรงสีข้าวถูกใช้เก็บยุทธปัจจัยสำหรับกองทัพอิตาลี ก่อนที่ทางกองทัพนาซีเยอรมนีจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นค่ายกักกันชาวยิว ผู้ต่อต้านการรุกราน รวมถึงนักโทษการเมือง ในนาม “Polizeihaftlager” ภายใต้รหัส “Stalag 339” ซึ่งในพื้นที่ละแวกเดียวกันนี้ยังมีค่ายกักกันอื่นเช่น Fossoli (20 กิโลเมตรจากเมือง Modena) และ Bolzano (ทางตอนเหนือของอิตาลีไม่ไกลจากเมืองมิวนิคของเยอรมนี) แต่ที่ San Sabba เป็นค่ายกักกันเดียวในอิตาลีที่มีเตาเผาสำหรับการจัดการศพของเหยื่ออย่างเป็นระบบ Elio Apih (1922–2005) นักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษากระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้กล่าวโดยสรุปว่า San Sabba เปรียบได้เหมือนห้องทดลองขนาดย่อมของนาซี ในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเหยื่อที่ถูกคุมขัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงาน การเคลื่อนย้ายนักโทษเข้าไปยังโปแลนด์และเยอรมนี ไปจนถึงรูปแบบการกำจัดอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงแต่กับชาวยิว แต่กับชาวอิตาลี ชาวสโลเวเนีย ชาวโครเอเชีย พลพรรคที่ต่อต้านการปกครองของนาซี และรวมไปถึง ยิปซี ผู้รักร่วมเพศ ล้วนตกเป็นเหยื่อในห้วงสงครามทั้งสิ้น
ทางเข้าด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ สถาปนิกออกแบบพื้นที่ทางเข้าขนาบด้วยผนังโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ เพื่อสร้างปรับอารมณ์ความรู้สึกของผู้เข้าชมก่อนเข้าถึงพื้นที่ประวัติศาสตร์
แนวทางเดินที่ขนาบข้างด้วยแนวคอนกรีตนำไปสู่ซุ้มทางเข้าของตัวอาคารเก่าที่เป็นอาคารอิฐ ซึ่งพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาเอาไว้เหมือนครั้งอดีตที่เป็นค่ายกักกัน
เพื่อชี้ให้เห็นภาพรวมบริบทแวดล้อมของช่วงเวลาดังกล่าว ควรต้องทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของเมือง Treiste เมืองท่าที่สำคัญบนทะเลเอเดรียติก ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในฐานะประตูสู่ทางออกทะเลของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) จากจักรวรรดิออสเตรียมาตั้งแต่ค.ศ. 1382 เมืองท่าแห่งนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความหมายทางเศรษฐกิจและการทหาร และนำมาสู่การปะทะสังสรรค์กันในทางวัฒนธรรมในเวลาต่อมา เมืองท่า Treiste มีการตั้งถิ่นฐานชาวยิวผ่านเครือข่ายการค้า (โดยปรากฏหลักฐานครั้งแรกในค.ศ. 1236) ชาวยิวส่วนใหญ่ดำรงสถานะเป็นกลุ่มพ่อค้า มีศาสนสถานสำคัญขนาดใหญ่ภายในเมือง (Trieste Synagogue) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนสลาฟ (Slavic people) จากพื้นที่คาบสมุทรบอลข่าน เข้ามาทำมาหากินในเมืองท่าแห่งนี้ จากการสำรวจ สำมะโนประชากรชาวเมือง Trieste ที่ทำโดยจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี มีผู้อยู่อาศัยในเมือง Treiste 229,510 คน พบว่าเป็นผู้พูดภาษาอิตาลี (51.8%) ผู้พูดภาษาสโลเวเนีย (24.8%) ผู้พูดภาษาเยอรมนี (5.2%) ผู้พูดภาษาเซอเบียร์-โครแอต (1%) ผู้พูดภาษาฮังการี (1.6%) พลเมืองอิตาลี (12.9%) และกลุ่มอื่นๆอีก (16.8%) (เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเวลาดังกล่าวกระบวนการสร้างชาติ และการสร้างพลเมือง (Citizenization) กำลังค่อยๆก่อตัวขึ้นภายหลังการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) ที่สำเร็จในปี ค.ศ. 1871 ได้ไม่นานนัก การสำมะโนดังกล่าวเป็นไปในช่วงเวลาที่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกำลังสั่นคลอนจากสงคราม) และในภายหลังเมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้ล่มสลายลง เมือง Trieste ก็ถูกผนวกรวมเป็นดินแดนของราชอาณาจักรอิตาลีจากสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล (Treaty of Saint-Germain-en-Laye) ในปีค.ศ. 1919
หลังจากนั้นเมื่อทิศทางของโลกเดินทางมาถึงช่วงเวลาของยุคชาตินิยม การก้าวขึ้นสู่อำนาจของเบนิโต มุสโสลินี และการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อสีดำ (Camicie Nere) ก็นำความกลัวแผ่มาปกคลุมไปทั่วราชอาณาจักร รวมไปถึงเมือง Treiste แห่งนี้ ช่วงเวลาดังกล่าวนำมาซึ่งความพยายามกดข่มอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมชายขอบ ชนกลุ่มน้อยให้เหลือเพียงอัตลักษณ์ของอิตาลี เกิดการก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญเช่น การเผาศูนย์กลางวัฒนธรรมชาวสโลเวเนีย (Narodni dom) ในปีค.ศ. 1921 โดยพลพรรคฟาสซิสม์ ภายใต้การสนับสนุนของมุสโสลินี มีการจำกัดแบบเรียนในโรงเรียน หลักสูตรของสภานศึกษา เมื่อมุสโสลิเนียก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของรัฐบาล เขาก็เริ่มประกาศ “ถ้อยแถลงของเผ่าพันธ์ุ” (Manifesto of Race) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1938 เพื่อสร้างรัฐเผด็จการที่อนุญาตเฉพาะเผ่าพันธุ์ที่สมควรได้รับสิทธิสูงกว่า กระบวนการด้อยค่าและลิดลอนสิทธิถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบและการกีดกันยิ่งทวีคูณเมื่อโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เมือง Trieste อยู่ภายใต้ความควบคุมของทหารนาซีเยอรมันภายใต้การจัดตั้งปฏิบัติการเหนือชายฝั่งเอเดรียติก (Operational Zone of the Adriatic Littoral) เด็กชาวยิวถูกห้ามเข้าเรียนในโรงเรียนและในที่สุดเริ่มถูกจับกุมเพื่อเข้าสู่ค่ายกักกัน
แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งของค่ายกักกันนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ค่ายใหญ่ที่สุดคือ Auschwitz-Birkenau ในโปแลนด์
ค่าย San Sibba ใน Trieste
แผนที่การส่งต่อชาวยิวไปยัง Auschwitz (DEPORTATIONS FROM ITALY, 1943–1945) courtesy: US Holocaust Memorial Museum
ภายในพื้นที่ของโรงสีข้าว และโกดังเก่าถูกดัดแปลงให้เป็นคุกและโรงงานล้อมรอบพื้นที่ของอาคารเผาศพู่ตรงกลาง โรงงานถูกขับเคลื่อนโดยนักโทษที่ถูกคุมขัง ซึ่งต้องทำงานหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตัดเย็บเสื้อผ้า และรองเท้าสำหรับทหาร SS การทำครัว รวมไปถึงการตัดไม้เพื่อใช้เป็นฟืนสำหรับเผาศพ นักโทษบางส่วนถูกส่งต่อไปที่สถานีรถไฟใจกลางเมือง Trieste เพื่อส่งต่อไปยังค่ายกักกันที่ใหญ่กว่าในโปแลนด์และในเยอรมนี (จากเอกสารที่พบในชั้นหลัง ระบุว่ามีการส่งนักโทษจากอิตาลีไปยังเยอรมนี 8,222 คน เป็นชาวยิว 1,457 ราย นักโทษการเมือง 1,687 ราย ไม่ระบุ 5,194 ราย โดยกว่า 57% ของนักโทษที่ถูกส่งไปจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลเอเดรียติกถูกสังหาร) ตำแหน่งที่ตั้งของค่ายกักกันอยู่ห่างจากใจกลางเมือง ทำให้เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นแทบไม่มีใครรับรู้การมีอยู่ของกิจกรรมทั้งหมดที่อยู่ภายในค่าย มีเพียงข่าวลือจากชาวบ้านในละแวกที่เล็ดลอดมาถึงกองกำลังปลดแอกชาวยูโกสลาเวียถึงการเคลื่อนไหวบางอย่างภายในโรงสีร้างแห่งนี้
ในปัจจุบันเราสามารถระบุรายชื่อของเหยื่อได้เพียง 349 ราย ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ต่อต้านกองกำลังนาซีที่จับอาวุธขึ้นสู้ (ชาวอิตาลี ชาวโครแอต และชาวสโลเวเนีย) แต่จำนวนของเหยื่อที่เสียชีวิตจริงๆนั้นมากกว่านั้น นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าจำนวนเลขผู้เสียชีวิตอาจมากถึง 4,000–5,000 คน โดยการประหารชีวิตด้วยหลากหลายรูปแบบวิธี เช่นการแขวนคอ การยิงเป้า การทุบด้วยของแข็ง และการรมแก๊สพิษ จากการให้ปากคำของเจ้าหน้าที่ SS ได้รับสารภาพว่า ส่วนใหญ่การสังหารมักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน และมีการเปิดเพลงเสียงดังเพื่อกลบเสียงร้องไห้ของเหยื่อ
ห้องขัง (The Cells) ในพื้นที่ San Sabba ส่วนชั้นล่างคือส่วนของห้องขังสำหรับขังเหยื่อแบ่งออกเป็น 17 ห้อง ขนาดกว้าง 1.2 เมตร ความสูง 2 เมตร สำหรับ 6 คน พื้นที่ห้องขังนี้ถูกใช้เพื่อจองจำนักโทษก่อนการส่งตัวไปยังค่ายอื่น โดยสองห้องแรกใช้สำหรับการทรมาน และเป็นพื้นที่นี่เองที่พบดวงดาวสีแดง ถัดจากนั้นไปคือ “The Death Cell” ห้องขังขนาดเล็กที่ถูกใช้สำหรับการกักขังเหยื่อก่อนพาไปห้องสังหาร
ส่วนของห้องขัง (Cells) มีทั้งหมด 17 ยูนิต กว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตรสำหรับขังนักโทษ 6 คน ต่อ 1 ยูนิต
ห้องสังหารและเตาเผาศพ (The Death Room and The Crematorium) พื้นที่ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลานโล่งกลางกลุ่มอาคาร คืออาคารที่เคยถูกใช้ในการสังหารเหยื่อด้วยรูปแบบต่างๆ ก่อนที่จะนำศพเข้าไปในเตาเผาที่ถูกออกแบบโดย Erwin Lambert (1909–1976) นักออกแบบห้องรมแก๊สของพรรคนาซี ผู้รับผิดชอบการออกแบบห้องรมแก๊สและเตาเผาในค่ายกักกันจำนวนมากในโปแลนด์และเยอรมนีตามโครงการ Action T4 หลังจากกำจัดศพแล้วอัฐิของเหยื่อจะถูกทหารนำไปทิ้งที่ชายทะเลซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่าย อาคารหลังนี้ถูกทำลายลงด้วยระเบิดไดนาไมค์โดยทหารนาซีเพื่อทำลายหลักฐานการมีอยู่ของการก่ออาชญากรรมสงคราม (ยังปรากฏร่องรอยของรูแป ที่รับโครงสร้างหลังคาอยู่ในแนวผนังอิฐของอาคารข้างเคียง ทำให้สามารถสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารได้) ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจึงเหลือแต่เพียงพื้นที่ว่างที่ออกแบบไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ผู้วายชนม์
หุ่นจำลองกลุ่มอาคาร San Sabba สีขาวคืออาคารที่ยังดำรงอยู่ สีแดงคืออาคารเตาเผาศพและอาคารสังหารซึ่งถูกทำลายจนหมดสิ้นในช่วงปลายสงคราม สีเทาคือผนังคอนกรีตที่สร้างขึ้นใหม่หลังการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์
ม้านั่งสำหรับดูวิดิทัศน์
กล่องคอนกรีตจัดแสดงข้อมูล การสืบปากคำพยานบอกเล่าจากเหยื่อที่รอดชีวิต
ภายในพื้นที่ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์
ชุดนักโทษภายในค่าย ได้รับบริจาคจากชาวยิวที่ค่าย Auschwitz (ที่ค่าย San Sabba ไม่มีชุดนักโทษ)
ข้าวของเครื่องใช้ภายในค่ายกักกัน จดหมาย (ทหาร SS) นาฬิกา แว่นตา จากเหยื่อ
อัฐิจาก Auschwitz
ในโมงยามแห่งความหวาดกลัวได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่สีเทา” ของความไม่เชื่อใจกัน ความไม่ไว้วางใจ และความรักตัวกลัวตายผลักดันให้ชุมชนชี้เบาะแสที่ซ่อนตัวของชาวยิวและผู้ต่อต้าน ผู้ให้การสนับสนุนทหารนาซีมีในทุกระดับตั้งแต่พลพรรคฟาสซิสม์ เจ้าของธุรกิจท้องถิ่นล้วนให้การสนุบสนุน กลุ่มคนเหล่านี้อาจเกรงกลัวในอิทธิพล และบางส่วนหลงเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อ การต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต ์และการต่อต้านชาวสลาฟ ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคม อย่างไรก็ตามเราพบว่าเหยื่อจำนวนไม่น้อยที่สังเวยอยู่ที่ San Sabba คือกลุ่มผู้ต่อต้าน (Partisan Movement) ที่จับอาวุธขึ้นสู้ทหารนาซี คนเหล่านี้เป็นชาวอิตาลี ชาวสลาฟ จากโครเอเชีย สโลเวเนีย เซอร์เบีย รวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อต่อต้านทหารเยอรมัน ซึ่งมักถูกตอบโต้อย่างรุนแรงและโหดร้ายอยู่เสมอ
กลุ่มผู้ต่อต้าน (Partisan) ที่ถูกจับกุมและทำการสังหาร
พลพรรคผู้ต่อต้าน (Partisan)
ดาวแห่งความหวังและศรัทธา
ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามกลุ่มอาคารแห่งนี้ถูกใช้รองรับผู้ลี้ภัยจากพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านและพื้นที่อื่นๆของเมือง ตราบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1966 ได้มีการจัดประกวดแบบโดยสภาเทศบาลเมือง Trieste โดย Romano Boico (1910–1985) สถาปนิกชาวอิตาเลียน ชาวเมือง Trieste เป็นผู้ชนะการประกวดการออกแบบพิพิธภัณฑ์ และพัฒนาโครงการออกแบบจนเกิดการก่อสร้างโครงการพิพิธภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 1975 โดยการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ใช้พื้นที่อาคารส่วนที่ติดกับอาคารเผาศพในอดีตเป็นหลัก (ซึ่งแต่เดิมคือส่วนครัวของอาคาร) ส่วนพื้นที่อื่นเช่น ห้องขัง ยังคงเก็บรักษาสภาพเดิมเอาไว้ อาคารจำนวนมากที่อยู่รายรอบถูกรื้อถอนออกเพื่อรองรับการพัฒนาใหม่ๆของเมือง ส่วนของพิพิธภัณฑ์จะเก็บรักษาพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเดิมเอาไว้เฉพาะส่วนสำคัญ ผู้ออกแบบเลือกใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเป็นโครงสร้างหลักที่โอบอุ้มพื้นที่ประวัติศาสตร์เอาไว้ ส่วนขอบเขตของอาคารเผาศพเดิมผู้ออกแบบได้กำหนดให้แสดงของเขตด้วยแผ่นเหล็กวางบริเวณพื้น เพื่อแสดงถึงอาณาเขตที่ครั้งหนึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยคร่าคนไปกว่า 4,000 ชีวิต ส่วนจุดที่เป็นปล่องควันเดิมได้มีการออกแบบประติมากรรมเหล็กแทนการมีอยู่ของปล่องควันในอดีต
Romano Boico (1910–1985) สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ San Sabba
ในปัจจุบันการไปเยี่ยมชมสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ความสูญเสียครั้งสำคัญ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านการเดินทาง ท่องเที่ยว ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวถูกเรียกว่า “มรดกบาดแผลฝังใจ” (Traumatic Heritage) หรือในด้านสายการท่องเที่ยว อาจเรียกได้ว่าเป็น “Dark Tourism” หรือ “Disaster Tourism” การท่องเที่ยว ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ในแง่ของการวิพากษ์ถึงคุณค่าของมรดกประเภทดังกล่าว การมาเยือนสถานที่ทางประวัติศาสตร์ได้สร้างให้เกิดประสบการณ์แก่ผู้รับสารได้อย่างน่าตั้งคำถาม หนึ่งในข้อถกเถียงที่สำคัญที่สถานที่ซึ่งเคยเกิดประวัติศาสตร์บาดแผลมอบให้กับเราคือ การดำรงอยู่ของมรดกแห่งนี้ก่อให้เกิดสภาวะ “ด้านลบ” (Negative) หรือ “ความกระอักกระอ่วนใจ” แก่ผู้มาเยือน
นักสังคมวิทยา Jeffrey Alexander ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแหล่งมรดกบาดแผลฝังใจได้กล่าวว่า “มรดกบาดแผลฝังใจได้เก็บเอาความรู้สึกของปรากฏการณ์ความเลวร้ายที่เหยื่อถูกกระทำ ความรู้สึกที่ไม่อาจลบเลือนออกไปจากจิตใจ กลายเป็นความทรงจำที่เปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ในอนาคตอย่างฝังรากลึกและไม่อาจหวนกลับคืนสู่จุดเดิมได้” (Alexander, Jeffrey. 2012) มรดกบาดแผลฝังใจนอกจากจะสร้างความทรงจำอันปวดร้าวแก่เหยื่อและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงที่รอดชีวิตยังได้สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมในเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือไปจากเพียงสถานที่เพื่อการรำลึกถึง หากแต่ยังเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ดำรงตนอยู่เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิติของสังคมมนุษยชาติภายใต้ความขัดแย้ง และทางออกของความขัดแย้งนำไปสู่การใช้ความรุนแรง Randall Mason นักประวัติศาสตร์เขียนถึงคุณค่าของแหล่งมรดกบาดแผลฝังใจที่สามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ 1. คุณค่าในเชิงแหล่งมรดก (Heritage values) ซึ่งควรได้รับการอนุรักษ์ เก็บรักษาเพื่อเรียนรู้ เยี่ยมชม 2. คุณค่าในเชิงสังคม (Social values) ในการที่แหล่งมรดกกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และ 3. คุณค่าต่อความสัมพันธ์ของสังคม (Societal values) ที่แหล่งมรดกมีคุณค่าในเชิงร่วมสมัย การต่อยอดตีความตามกระบวนทัศน์ทางสังคมในห้วงเวลาหลังจากนั้น (Mason, Randall. 2021)
ขอบเขตของอาคารเผาศพเดิมผู้ออกแบบได้กำหนดให้แสดงของเขตด้วยแผ่นเหล็กวางบริเวณพื้น
ร่องรอยของรูแป ที่รับโครงสร้างหลังคาอยู่ในแนวผนังอิฐของอาคารข้างเคียง ทำให้สามารถสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารได้
ประติมากรรมเหล็กบริเวณปล่องควัน
ในช่องจัดแสดงวัตถุเครื่องใช้ไม้สอยของเหยื่อและผู้คุมขัง ไม่ว่าจะเป็น สมุดบันทึก ภาพสเก็ตซ์ นาฬิกา ปากกา กระบองที่ใช้สังหารเหยื่อ อัฐิของเหยื่อในโหลแก้ว ยังคงมีดวงดาวชิ้นจ้อยลอยเคว้งคว้างทำหน้าที่อย่างที่มันเคยทำตามเจตนารมณ์ของผู้ตัดเย็บนิรนาม
หน้าที่ของการส่งต่อความศรัทธาต่อการมีชีวิตอยู่
การเดินทางครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำหรับการสำรวจวิจัยปฏิบัติการภาคสนามและการวิจัยในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ